การบริโภคอาหารของคนไทย
อาหารมีความสำคัญยิ่งต่อสุขภาพของคนเรา และมีความสัมพันธ์โดยตรงต่อภาวะโภชนาการซึ่งเป็นตัวบ่งชี้สุขภาพ คนที่กินอาหารมากเกินไปจะเกิดภาวะโภชนาการเกิน เป็นสาเหตุของโรคอ้วนและโรคเรื้อรังที่เกิดจากความเสื่อมต่างๆ หากกินอาหารไม่เพียงพอก็ทำให้เป็นโรคขาดสารอาหาร ส่งผลถึงประสิทธิภาพของร่างกายได้ อาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคต่างๆ หรือโลหะหนัก ยาฆ่าแมลง ตลอดจนสารเคมีต่างๆ ล้วนส่งผลถึงความไม่ปลอดภัยและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนเรา ซึ่งเราก็ประสบปัญหาทั้ง 3 ด้านดังกล่าวข้างต้น แต่ปัญหาเรื่องโภชนาการเกินเป็นปัญหาที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และนับเป็นปัญหาที่ท้าทายนักวิชาการด้านโภชนาการอย่างมาก ส่วนปัญหาการขาดสารอาหารแม้จะลดความรุนแรงลงแล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงมีอยู่ สำหรับปัญหาความปลอดภัยของอาหารก็ยังพบเห็นได้ไม่น้อยในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้นักวิชาการด้านโภชนาการและผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบจึงได้พยายามดำเนินการต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว วิธีหนึ่งที่ได้ดำเนินการเพื่อหาข้อมูลในการแก้ไขปัญหาคือ การสำรวจการบริโภคอาหารของคนไทย การสำรวจการบริโภคอาหารของคนไทยจะทำให้ทราบว่าคนไทยกินอาหารอะไรบ้าง กินอย่างไร ในปริมาณเท่าไร เพราะเมื่อทราบว่าคนไทยกินอะไรบ้างก็จะสามารถทราบภาวะโภชนาการโดยรวมหรือภาพรวมของภาวะโภชนาการของคนไทย หรือทำให้ทราบแนวโน้มว่าคนไทยจะประสบปัญหาโภชนาการอย่างไร นอกจากนี้ยังสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาศึกษาว่าคนไทยจะมีความปลอดภัยในการบริโภคอาหารหรือไม่ อย่างไร เสี่ยงต่อการได้รับสารปนเปื้อน เช่น อะฟล่าทอกซินหรือไม่ อย่างไร เป็นต้น ซึ่งในการดำเนินการสำรวจดังกล่าวต้องทำโดยใช้หลักวิชาการที่ถูกต้อง ตั้งแต่การเลือกกลุ่มบุคคลที่จะสำรวจ โดยต้องพยายามเลือกกลุ่มบุคคลที่สามารถเป็นตัวแทนของคนไทยทั้งหมด แบบสอบถามที่จะใช้เป็นเครื่องมือก็ต้องมีมาตรฐาน ที่สำคัญคือต้องมีเงินทุนเพียงพอในการสำรวจด้วย และเมื่อสำรวจเสร็จสิ้น การวิเคราะห์ประมวลข้อมูลก็เป็นสิ่งสำคัญมาก จึงเห็นได้ว่าการสำรวจการบริโภคอาหารของคนไทยนั้นต้องใช้พละกำลังในทุกด้านอย่างมหาศาลทีเดียว และข้อมูลต่างๆ ที่ได้มาก็นับว่าคุ้มค่า เพราะสามารถนำมาใช้ในการวางยุทธวิธีป้องกันและแก้ไขปัญหาทุพโภชนาการที่เกิดขึ้น การสำรวจด้านโภชนาการของคนไทยในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมาได้มี 2 หน่วยงานดำเนินการสำรวจ คือ กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการสำรวจภาวะอาหารและโภชนาการเมื่อ พ.ศ. 2546 รายงานผลการสำรวจเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2549 และสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยการสนับสนุนของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำรวจข้อมูลเมื่อ พ.ศ. 2546-2547 และรายงานผลเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2549 ซึ่งการสำรวจด้านโภชนาการของทั้ง 2 หน่วยงานทำให้ทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ทำงานด้านอาหารและโภชนาการของประเทศไทย และเป็นข้อมูลที่น่าสนใจ จึงขอนำมาบอกเล่าให้คุณผู้อ่านได้ทราบ การสำรวจภาวะโภชนาการของกองโภชนาการมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ข้อมูลด้านอาหารและโภชนาการ ตลอดจนข้อมูลพื้นฐานคนไทยและพฤติกรรมการบริโภคอาหารของครัวเรือนมาใช้ในการกำหนดนโยบายและวางแผนการดำเนินงานโภชนาการของประเทศ โดยได้ทำการศึกษาภาวะโภชนาการของประชากรทุกกลุ่มอายุ ศึกษาพฤติกรรมการบริโภคอาหารของทารก เด็กวัยก่อนเรียน เด็กวัยเรียน วัยทำงาน ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ตลอดจนศึกษาข้อมูลพื้นฐานคนไทย และพฤติกรรมการบริโภคอาหารของครัวเรือน พบว่าครัวเรือนส่วนใหญ่มีรายได้อยู่ระหว่าง 50,001-100,000 บาทต่อปี โดยจำนวนครึ่งหนึ่งของครัวเรือนดังกล่าวมีรายได้มากกว่า 96,000 บาทต่อปี ทั้งนี้ครัวเรือนที่อยู่ในภาคกลางมีรายได้สูงสุด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีรายได้ต่ำสุด และครัวเรือนส่วนใหญ่จ่ายเงินเป็นค่าอาหารร้อยละ 21-40 ของรายได้ ส่วนภาวะโภชนาการพบเด็กอายุ 0-5 ปี มีภาวะเตี้ยร้อยละ 7.9 ภาวะอ้วนร้อยละ 4.0 เด็กอายุ 6-14 ปีในเขตเมืองพบภาวะอ้วนร้อยละ 9.5 เยาวชนในเขตเมืองอายุ 15-18 ปีพบภาวะอ้วนร้อยละ 17.7 ส่วนผู้ใหญ่พบว่ากลุ่มอายุ 30-59 ปีมีภาวะอ้วนมากที่สุด โดยพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย คือพบภาวะอ้วนในผู้หญิงร้อยละ 46.2 และผู้ชายร้อยละ 32.0 สำหรับการขาดสารอาหารพบว่าภาคใต้มีภาวะขาดสารอาหารมากที่สุด คือมีการเจริญเติบโตด้อยทั้งน้ำหนักและความสูงต่ำกว่าเกณฑ์มากกว่าภาคอื่น อีกทั้งพบปัญหาอ้วนสูงเป็นที่สองรองจากภาคกลาง และพบปัญหาคอเลสเตอรอลสูงมากที่สุด นอกจากนี้การสำรวจของกองโภชนาการในครั้งนี้พบว่าในทุกภาคมีปัญหาคอพอกในเด็กวัยเรียนเพิ่มขึ้น ทั้งยังพบว่าเด็กกลุ่มวัยทำงาน หญิงวัยเจริญพันธุ์ หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรประสบปัญหาโลหิตจางมากขึ้น โดยพบในชนบทมากกว่าในเมือง ส่วนการบริโภคน้ำตาลของกลุ่มวัยทำงานพบว่าค่าเฉลี่ยของการบริโภคน้ำตาลและอัตราความชุกของภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเพิ่มขึ้นตามอายุ และร้อยละ 40 ของกลุ่มคนวัยทำงานในเมืองมีพฤติกรรมการเติมเครื่องปรุงรสก่อนชิมทุกครั้ง รายงานการสำรวจภาวะอาหารและโภชนาการของกองโภชนาการนี้ พบพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสมต่างๆ เช่น เด็กวัยรุ่นงดบริโภคอาหารบางมื้อ พบการกินขนมขบเคี้ยวมาก และในทุกกลุ่มอายุพบว่ามีการกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น จึงทำให้ได้รับไขมันเพิ่มขึ้นด้วย ประเด็นที่คณะผู้สำรวจฝากให้คิดคือ วิถีชีวิตที่ใช้กำลังกายน้อยลงทั้งในชีวิตประจำวันและการทำงาน ซึ่งพบว่ามีการออกกำลังน้อย สำหรับการสำรวจข้อมูลการบริโภคอาหารของประเทศไทยโดยสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยการสนับสนุนของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาตินั้น ได้ดำเนินการเก็บข้อมูลครอบคลุมอาหาร 17 กลุ่ม รวมอาหารประมาณ 500 รายการ ซึ่งเป็นอาหารสด อาหารแปรรูป อาหารกึ่งสำเร็จรูป และอาหารสำเร็จรูป ตลอดจนอาหารที่มีเฉพาะท้องถิ่น อาหารตามฤดูกาล โดยเฉพาะผลไม้ตามฤดูกาล เครื่องดื่ม น้ำดื่ม และเครื่องปรุงรสต่างๆ ตลอดจนทำการสำรวจตั้งแต่ทารกแรกเกิดจนถึงวัยสูงอายุ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบถึงการบริโภคอาหารของกลุ่มวัยต่างๆ และทำให้ได้ฐานข้อมูลปริมาณการบริโภคอาหารต่างๆ ซึ่งมีความจำเป็นในการประเมินความเสี่ยงต่อการได้รับสารเจือปนที่มีอยู่หรือเติมลงในอาหาร อันเป็นข้อมูลในการต่อรองทางการค้าระหว่างประเทศของอาหารส่งออกจากประเทศไทย และใช้ข้อมูลในการกำหนดมาตรฐานความเสี่ยงจากการบริโภคของคนไทย รวมทั้งใช้เป็นเกณฑ์ปรับข้อกำหนดใน FBDG หรือข้อปฏิบัติการกินอาหารที่ดีของคนไทยด้วย ซึ่งจากผลสำรวจในครั้งนี้พบว่าคนกรุงเทพฯ ทั้งกลุ่มผู้หญิงและผู้ชายดื่มนมและกินเนื้อสัตว์มากกว่าคนต่างจังหวัด เด็กกรุงเทพฯ ดื่มนมโดยเฉลี่ยวันละ 300 มิลลิลิตร คนต่างจังหวัดพบว่ามีการบริโภคน้ำตาล ผลไม้ และขนมหวานมากกว่าคนกรุงเทพฯ ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ส่วนอาหารว่างนั้นกลุ่มที่นิยมบริโภคคือกลุ่มวัยรุ่น กลุ่มผู้ใหญ่บริโภคน้อย และพบว่าเด็กต่างจังหวัดนิยมบริโภคอาหารว่างมากกว่าเด็กในกรุงเทพฯ โดยภาพรวมพบว่าคนไทยกินอาหารที่มีไขมันเพิ่มมากขึ้น กินผัก-ผลไม้ลดลง โดยเฉพาะเด็กเล็กกินผักน้อยมาก คนวัยทำงานแม้จะกินผักมากกว่าเด็ก แต่ปริมาณที่กินก็นับว่าน้อย ซึ่งทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าทำไมคนไทยจึงประสบปัญหาโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และโรคอื่นๆ ที่เป็นโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อมากขึ้นๆ ทุกปี จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นจึงน่าจะทำให้เราได้ตระหนักและเลือกบริโภคอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย โดยบริโภคในปริมาณที่พอเพียง ไม่มากไม่น้อยเกินไป หลีกเลี่ยงอาหารที่มีผลเสียต่อสุขภาพ เช่น อาหารรสหวาน และอาหารรสจัดอื่นๆ พยายามกินผักให้มากขึ้น ที่สำคัญคือเรื่องของการใช้พลังงานควรให้สัมพันธ์กับอาหารด้วย เพราะแม้กินอาหารเหมือนปกติ แต่มีการใช้พลังงานหรือทำกิจกรรมต่างๆ น้อยลงก็ทำให้อ้วนได้เช่นกัน ดังนั้นถ้ากิจกรรมน้อยลง ก็ต้องลดปริมาณของอาหารลงด้วย
อาหารมีความสำคัญยิ่งต่อสุขภาพของคนเรา และมีความสัมพันธ์โดยตรงต่อภาวะโภชนาการซึ่งเป็นตัวบ่งชี้สุขภาพ คนที่กินอาหารมากเกินไปจะเกิดภาวะโภชนาการเกิน เป็นสาเหตุของโรคอ้วนและโรคเรื้อรังที่เกิดจากความเสื่อมต่างๆ หากกินอาหารไม่เพียงพอก็ทำให้เป็นโรคขาดสารอาหาร ส่งผลถึงประสิทธิภาพของร่างกายได้ อาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคต่างๆ หรือโลหะหนัก ยาฆ่าแมลง ตลอดจนสารเคมีต่างๆ ล้วนส่งผลถึงความไม่ปลอดภัยและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนเรา ซึ่งเราก็ประสบปัญหาทั้ง 3 ด้านดังกล่าวข้างต้น แต่ปัญหาเรื่องโภชนาการเกินเป็นปัญหาที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และนับเป็นปัญหาที่ท้าทายนักวิชาการด้านโภชนาการอย่างมาก ส่วนปัญหาการขาดสารอาหารแม้จะลดความรุนแรงลงแล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงมีอยู่ สำหรับปัญหาความปลอดภัยของอาหารก็ยังพบเห็นได้ไม่น้อยในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้นักวิชาการด้านโภชนาการและผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบจึงได้พยายามดำเนินการต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว วิธีหนึ่งที่ได้ดำเนินการเพื่อหาข้อมูลในการแก้ไขปัญหาคือ การสำรวจการบริโภคอาหารของคนไทย การสำรวจการบริโภคอาหารของคนไทยจะทำให้ทราบว่าคนไทยกินอาหารอะไรบ้าง กินอย่างไร ในปริมาณเท่าไร เพราะเมื่อทราบว่าคนไทยกินอะไรบ้างก็จะสามารถทราบภาวะโภชนาการโดยรวมหรือภาพรวมของภาวะโภชนาการของคนไทย หรือทำให้ทราบแนวโน้มว่าคนไทยจะประสบปัญหาโภชนาการอย่างไร นอกจากนี้ยังสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาศึกษาว่าคนไทยจะมีความปลอดภัยในการบริโภคอาหารหรือไม่ อย่างไร เสี่ยงต่อการได้รับสารปนเปื้อน เช่น อะฟล่าทอกซินหรือไม่ อย่างไร เป็นต้น ซึ่งในการดำเนินการสำรวจดังกล่าวต้องทำโดยใช้หลักวิชาการที่ถูกต้อง ตั้งแต่การเลือกกลุ่มบุคคลที่จะสำรวจ โดยต้องพยายามเลือกกลุ่มบุคคลที่สามารถเป็นตัวแทนของคนไทยทั้งหมด แบบสอบถามที่จะใช้เป็นเครื่องมือก็ต้องมีมาตรฐาน ที่สำคัญคือต้องมีเงินทุนเพียงพอในการสำรวจด้วย และเมื่อสำรวจเสร็จสิ้น การวิเคราะห์ประมวลข้อมูลก็เป็นสิ่งสำคัญมาก จึงเห็นได้ว่าการสำรวจการบริโภคอาหารของคนไทยนั้นต้องใช้พละกำลังในทุกด้านอย่างมหาศาลทีเดียว และข้อมูลต่างๆ ที่ได้มาก็นับว่าคุ้มค่า เพราะสามารถนำมาใช้ในการวางยุทธวิธีป้องกันและแก้ไขปัญหาทุพโภชนาการที่เกิดขึ้น การสำรวจด้านโภชนาการของคนไทยในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมาได้มี 2 หน่วยงานดำเนินการสำรวจ คือ กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการสำรวจภาวะอาหารและโภชนาการเมื่อ พ.ศ. 2546 รายงานผลการสำรวจเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2549 และสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยการสนับสนุนของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำรวจข้อมูลเมื่อ พ.ศ. 2546-2547 และรายงานผลเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2549 ซึ่งการสำรวจด้านโภชนาการของทั้ง 2 หน่วยงานทำให้ทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ทำงานด้านอาหารและโภชนาการของประเทศไทย และเป็นข้อมูลที่น่าสนใจ จึงขอนำมาบอกเล่าให้คุณผู้อ่านได้ทราบ การสำรวจภาวะโภชนาการของกองโภชนาการมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ข้อมูลด้านอาหารและโภชนาการ ตลอดจนข้อมูลพื้นฐานคนไทยและพฤติกรรมการบริโภคอาหารของครัวเรือนมาใช้ในการกำหนดนโยบายและวางแผนการดำเนินงานโภชนาการของประเทศ โดยได้ทำการศึกษาภาวะโภชนาการของประชากรทุกกลุ่มอายุ ศึกษาพฤติกรรมการบริโภคอาหารของทารก เด็กวัยก่อนเรียน เด็กวัยเรียน วัยทำงาน ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ตลอดจนศึกษาข้อมูลพื้นฐานคนไทย และพฤติกรรมการบริโภคอาหารของครัวเรือน พบว่าครัวเรือนส่วนใหญ่มีรายได้อยู่ระหว่าง 50,001-100,000 บาทต่อปี โดยจำนวนครึ่งหนึ่งของครัวเรือนดังกล่าวมีรายได้มากกว่า 96,000 บาทต่อปี ทั้งนี้ครัวเรือนที่อยู่ในภาคกลางมีรายได้สูงสุด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีรายได้ต่ำสุด และครัวเรือนส่วนใหญ่จ่ายเงินเป็นค่าอาหารร้อยละ 21-40 ของรายได้ ส่วนภาวะโภชนาการพบเด็กอายุ 0-5 ปี มีภาวะเตี้ยร้อยละ 7.9 ภาวะอ้วนร้อยละ 4.0 เด็กอายุ 6-14 ปีในเขตเมืองพบภาวะอ้วนร้อยละ 9.5 เยาวชนในเขตเมืองอายุ 15-18 ปีพบภาวะอ้วนร้อยละ 17.7 ส่วนผู้ใหญ่พบว่ากลุ่มอายุ 30-59 ปีมีภาวะอ้วนมากที่สุด โดยพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย คือพบภาวะอ้วนในผู้หญิงร้อยละ 46.2 และผู้ชายร้อยละ 32.0 สำหรับการขาดสารอาหารพบว่าภาคใต้มีภาวะขาดสารอาหารมากที่สุด คือมีการเจริญเติบโตด้อยทั้งน้ำหนักและความสูงต่ำกว่าเกณฑ์มากกว่าภาคอื่น อีกทั้งพบปัญหาอ้วนสูงเป็นที่สองรองจากภาคกลาง และพบปัญหาคอเลสเตอรอลสูงมากที่สุด นอกจากนี้การสำรวจของกองโภชนาการในครั้งนี้พบว่าในทุกภาคมีปัญหาคอพอกในเด็กวัยเรียนเพิ่มขึ้น ทั้งยังพบว่าเด็กกลุ่มวัยทำงาน หญิงวัยเจริญพันธุ์ หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรประสบปัญหาโลหิตจางมากขึ้น โดยพบในชนบทมากกว่าในเมือง ส่วนการบริโภคน้ำตาลของกลุ่มวัยทำงานพบว่าค่าเฉลี่ยของการบริโภคน้ำตาลและอัตราความชุกของภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเพิ่มขึ้นตามอายุ และร้อยละ 40 ของกลุ่มคนวัยทำงานในเมืองมีพฤติกรรมการเติมเครื่องปรุงรสก่อนชิมทุกครั้ง รายงานการสำรวจภาวะอาหารและโภชนาการของกองโภชนาการนี้ พบพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสมต่างๆ เช่น เด็กวัยรุ่นงดบริโภคอาหารบางมื้อ พบการกินขนมขบเคี้ยวมาก และในทุกกลุ่มอายุพบว่ามีการกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น จึงทำให้ได้รับไขมันเพิ่มขึ้นด้วย ประเด็นที่คณะผู้สำรวจฝากให้คิดคือ วิถีชีวิตที่ใช้กำลังกายน้อยลงทั้งในชีวิตประจำวันและการทำงาน ซึ่งพบว่ามีการออกกำลังน้อย สำหรับการสำรวจข้อมูลการบริโภคอาหารของประเทศไทยโดยสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยการสนับสนุนของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาตินั้น ได้ดำเนินการเก็บข้อมูลครอบคลุมอาหาร 17 กลุ่ม รวมอาหารประมาณ 500 รายการ ซึ่งเป็นอาหารสด อาหารแปรรูป อาหารกึ่งสำเร็จรูป และอาหารสำเร็จรูป ตลอดจนอาหารที่มีเฉพาะท้องถิ่น อาหารตามฤดูกาล โดยเฉพาะผลไม้ตามฤดูกาล เครื่องดื่ม น้ำดื่ม และเครื่องปรุงรสต่างๆ ตลอดจนทำการสำรวจตั้งแต่ทารกแรกเกิดจนถึงวัยสูงอายุ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบถึงการบริโภคอาหารของกลุ่มวัยต่างๆ และทำให้ได้ฐานข้อมูลปริมาณการบริโภคอาหารต่างๆ ซึ่งมีความจำเป็นในการประเมินความเสี่ยงต่อการได้รับสารเจือปนที่มีอยู่หรือเติมลงในอาหาร อันเป็นข้อมูลในการต่อรองทางการค้าระหว่างประเทศของอาหารส่งออกจากประเทศไทย และใช้ข้อมูลในการกำหนดมาตรฐานความเสี่ยงจากการบริโภคของคนไทย รวมทั้งใช้เป็นเกณฑ์ปรับข้อกำหนดใน FBDG หรือข้อปฏิบัติการกินอาหารที่ดีของคนไทยด้วย ซึ่งจากผลสำรวจในครั้งนี้พบว่าคนกรุงเทพฯ ทั้งกลุ่มผู้หญิงและผู้ชายดื่มนมและกินเนื้อสัตว์มากกว่าคนต่างจังหวัด เด็กกรุงเทพฯ ดื่มนมโดยเฉลี่ยวันละ 300 มิลลิลิตร คนต่างจังหวัดพบว่ามีการบริโภคน้ำตาล ผลไม้ และขนมหวานมากกว่าคนกรุงเทพฯ ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ส่วนอาหารว่างนั้นกลุ่มที่นิยมบริโภคคือกลุ่มวัยรุ่น กลุ่มผู้ใหญ่บริโภคน้อย และพบว่าเด็กต่างจังหวัดนิยมบริโภคอาหารว่างมากกว่าเด็กในกรุงเทพฯ โดยภาพรวมพบว่าคนไทยกินอาหารที่มีไขมันเพิ่มมากขึ้น กินผัก-ผลไม้ลดลง โดยเฉพาะเด็กเล็กกินผักน้อยมาก คนวัยทำงานแม้จะกินผักมากกว่าเด็ก แต่ปริมาณที่กินก็นับว่าน้อย ซึ่งทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าทำไมคนไทยจึงประสบปัญหาโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และโรคอื่นๆ ที่เป็นโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อมากขึ้นๆ ทุกปี จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นจึงน่าจะทำให้เราได้ตระหนักและเลือกบริโภคอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย โดยบริโภคในปริมาณที่พอเพียง ไม่มากไม่น้อยเกินไป หลีกเลี่ยงอาหารที่มีผลเสียต่อสุขภาพ เช่น อาหารรสหวาน และอาหารรสจัดอื่นๆ พยายามกินผักให้มากขึ้น ที่สำคัญคือเรื่องของการใช้พลังงานควรให้สัมพันธ์กับอาหารด้วย เพราะแม้กินอาหารเหมือนปกติ แต่มีการใช้พลังงานหรือทำกิจกรรมต่างๆ น้อยลงก็ทำให้อ้วนได้เช่นกัน ดังนั้นถ้ากิจกรรมน้อยลง ก็ต้องลดปริมาณของอาหารลงด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น